รู้หรือไม่ว่าผู้ป่วยโควิด-19 นั้น เมื่อหายป่วยแล้ว อาจยังคงมีอาการบางอย่างตามหลังมาทั้งต่อร่างกายและจิตใจเป็นเวลานานได้ถึงปี เนื่องจากการป่วยโควิด-19 ส่งผลกระทบกับระบบการทำงานในร่างกายทุกส่วน ทำให้หลังจากรักษาเรียบร้อย จะยังไม่กลับมาปกติ 100 % หรือที่เรียกว่า ภาวะ “Long Covid”
เราลองมาทำความรู้จักกันดีกว่าครับ ว่า Long Covid คืออะไร
ในต่างประเทศมีการพูดถึง “Long COVID” หรือ ผลตามหลังระยะเฉียบพลันของโควิด-19 หรือเรียกอีกอย่างว่า ผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 คือ ภาวะที่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วย แล้วยังมีอาการอยู่ อาจทำให้ร่างกายมีอาการไปอีกหลายสัปดาห์ หรืออาจจะนานเป็นเดือนๆ เนื่องจากแต่ละคนตอบสนองต่อเชื้อโควิดไม่เท่ากัน
ผู้ป่วยที่มีอาการโควิด-19 เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยคนนั้นจะมีอาการแรกเริ่มที่หนักกว่าคนอื่นเสมอไป ผู้ป่วยที่เริ่มแรกมีอาการไม่มาก แต่ไปๆ มาๆ มีอาการเรื่อยๆ ไม่หายสักที ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการโควิดระยะยาวที่น่าสนใจ ซึ่งมีเอกสารจากประเทศอังกฤษ NICE (the National Institute for Health and Care Excellence) มีการแบ่งกลุ่มอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่
- ระยะที่ 1 Acute COVID-19 เป็นการติดเชื้อและมีอาการของ โควิด-19 อยู่ถึง 4 สัปดาห์
- ระยะที่ 2 Ongoing symptomatic COVID-19 ระยะที่ผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องไปอีก 4-12 สัปดาห์
- ระยะที่ 3 Post-acute COVID-19 ระยะที่ผู้ป่วยยังมีอาการบ่งชี้ของโรคโควิด-19 ในช่วงระหว่างที่พบเชื้อ หรือหลังจากการพบเชื้อ โดยยังคงมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์
ในประเทศอังกฤษเองจากการประเมินผู้ป่วย 186,000 ราย พบว่าหนึ่งในห้าจะมีอาการต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์และ 9.9% จะยังคงมีอาการอยู่หลังจาก 12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบบ่อย
ได้แก่อ่อนเพลีย ไอและปวดหัว
ใครคือกลุ่มเสี่ยงเป็น Long Covid บ้างลองมาดูกันครับ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน Covid Symptom Study พบว่า คนสูงอายุและผู้หญิง คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกของอาการป่วยโควิด-19 พบมากถึง 5 อาการ และบางรายมากกว่านั้น รวมถึงบางรายมีสภาวะหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โรคหอบ หืด หรือโรคเบาหวาน
สรุปโดยย่ออาการ Long Covid ได้ดังนี้
- เหนื่อยล้า
- หายใจลำบาก
- วิตกกังวลและซึมเศร้า
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ
- เจ็บหน้าอก
- เจ็บข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ
- ไม่สามารถจดจ่อกับความคิดหรือโฟกัสสิ่งใดได้ ไปจนถึง “ภาวะสมองล้า”
จะเห็นได้ว่าโรคโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระยะสั้นเท่านั้น แต่โรคร้ายนี้ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่เคยติดเชื้อในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดจึงเป็นการป้องกันตัวเองและปฏิบัติตัวตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 จึงเป็นวิธีที่ดีสุด โดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่รวมกันในที่แออัด รวมถึงรีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยง เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีกันนะครับ