ลำพังเเค่เงินเดือนอาจไม่พอ หลายคนจำเป็นต้องหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจคือการขับแท็กซี่ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง นอกจากพาหนะคู่ใจและความสามารถในการขับขี่รถแล้ว สิ่งที่ผู้ขับขี่รถรับจ้างทุกต้องมี คือ ใบขับขี่รถสาธารณะ ใครอยากมีใบขับขี่ที่ว่า เซฟไว้อ่านได้เลย บอกให้ทุกขั้นตอน เมื่อต้องสอบใบขับขี่สาธารณะ
ใบขับขี่สาธารณะ คือ เอกสารที่ผู้ขับรถสาธารณะต่าง ๆ เช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ รถสามล้อ ฯลฯ ต้องมีติดตัวไว้ทุกครั้งในการเดินทาง เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจ จะได้มีเอกสารเอาไว้ใช้ยืนยันว่ามีความสามารถในการขับขี่ และได้รับอนุญาตให้ขับรถได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหากผู้ขับขี่รถลืมพกใบขับขี่ติดตัวก็ไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถใช้ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์แทนได้ สามารถใช้แสดงเป็นหลักฐานยืนยันตัวกับเจ้าหน้าที่ได้เช่นกัน
ใบขับขี่สาธารณะมีอายุการใช้งาน 3 ปี และมีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้
1. ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ
2. ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ
3. ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ
ทั้งนี้ ผู้ขับขี่จะต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะให้ตรงกับประเภทของรถ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ผู้ที่จะทำใบขับขี่รถสาธารณะได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. มีใบขับขี่รถส่วนบุคคลประเภทต่าง ๆ มาไม่น้อยกว่า 1 ปี เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถสามล้อส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
2. มีอายุตรงตามเกณฑ์ในการทำใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ เช่น ใบขับขี่แท็กซี่ และรถยนต์สามล้อสาธารณะ ต้องมีอายุ 22 ปีขึ้นไป ส่วนใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
3. มีความสามารถในการขับรถ และเข้าใจกฏจราจร
4. ไม่มีโรคประจำตัว และร่างกายไม่พิการจนไม่สามารถขับรถได้
5. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
6. ไม่อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่
7. ไม่เคยมีคดีเกี่ยวกับการขับรถ หรือโดนปรับตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
8. ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีต่าง ๆ แต่หากเคยรับโทษ ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้
-กรณีจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
-กรณีจำคุกเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน
-กรณีจำคุกเกิน 3 ปี ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
-กรณีอื่น ๆ เช่น โดนปรับ รอลงอาญา รอขึ้นศาล ต้องมีเอกสารทางคดีจากสถานีตำรวจมายืนยันชี้แจงเกี่ยวกับคดีความของผู้ขอตรวจสอบประวัติอาชญากร
ขั้นตอนการทำใบขับขี่สาธารณะ มีดังนี้
1. จองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก gecc.dlt.go.th
2. ยื่นเอกสารและคำขอ
3. ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เช่น ทดสอบการมองเห็นสีที่จำเป็นในการขับรถ ทดสอบสายตาทางลึก ทดสอบสายตาทางกว้าง และทดสอบปฏิกิริยาเท้า
4. รับการอบรม
-รถยนต์สาธารณะ และ รถยนต์สามล้อสาธารณะ ใช้เวลาอบรม 5 ชั่วโมง
-รถจักรยานยนต์สาธารณะ อบรม 3 ชั่วโมง
-รถยนต์สาธารณะ และ รถยนต์สามล้อสาธารณะ ใช้เวลาอบรม 5 ชั่วโมง
-รถจักรยานยนต์สาธารณะ อบรม 3 ชั่วโมง
เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียเวลา สามารถเลือกอบรม e-Learning ผ่านทางเว็บไซต์ www.dlt-elearning.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการอบรมทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ การอบรมต่ออายุใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล การอบรมต่ออายุใบอนุญาตขับรถขนส่ง การอบรมต่ออายุใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และการอบรมต่ออายุใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล ที่สิ้นอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป
5. การสอบภาคทฤษฎี ข้อเขียน โดยจะต้องสอบให้ได้ 28 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน (สามารถเสิร์ชหาแนวข้อสอบใบขับขี่สาธารณะได้ในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนสอบใบขับขี่สาธารณะ)
6. ขอตรวจสอบความประพฤติ หรือประวัติอาชญากรนำหนังสือที่ได้จากกรมการขนส่งทางบกไปยื่นที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยตนเอง เพื่อดำเนินการตรวจประวัติ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 15-45 วัน โดยจะได้รับการแจ้งผลตรวจทางข้อความ SMS และผลตรวจจะถูกส่งไปที่กรมการขนส่งโดยอัตโนมัติ
7. เมื่อผลออกมาว่าประวัติดี หรือมีพฤติกรรมที่ไว้วางใจได้ สามารถชำระค่าธรรมเนียม ถ่ายรูป และรอรับใบขับขี่สาธารณะได้เลย
ผู้ขอสามารถไปทำใบขับขี่ได้ที่ สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ โดยเช็กรายชื่อได้จากเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก ซึ่งการทำใบขับขี่รถสาธารณะจะใช้เวลานานกว่าการทำใบขับขี่ส่วนบุคคล แต่ไม่เกิน 2 เดือน เพราะมีขั้นตอนการตรวจประวัติอาชญากรรมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ เมื่อได้รับใบขับขี่แล้ว จะต้องแจ้งข้อมูลประวัติของตัวเอง ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบกเพื่อเป็นฐานข้อมูลไว้ตรวจสอบและติดตามต่อไป
เอกสารที่ใช้ในการทำใบขับขี่ กรณีทำใบขับขี่รถสาธารณะ (ขอใหม่)
1. ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลประเภทต่าง ๆ เช่น ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ใบขับขี่รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
2. บัตรประชาชนตัวจริง
3. ใบรับรองแพทย์ขอไว้ไม่เกิน 1 เดือน
เอกสารที่ใช้ในการทำใบขับขี่ กรณีต่อใบขับขี่รถสาธารณะ
1. ใบขับขี่สาธารณะของเดิม
2. บัตรประชาชนตัวจริง
3. ใบรับรองแพทย์ขอไว้ไม่เกิน 1 เดือน
เอกสารที่ใช้ในการทำใบขับขี่ กรณีใบขับขี่รถสาธารณะหาย
1. ใบแจ้งความ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นคำร้องขอทำใบขับขี่ใหม่
2. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
ค่าใช้จ่ายในการทำใบขับขี่สาธารณะ มีดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมคำขอ 5 บาท
2. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถ
-รถยนต์สาธารณะ 400 บาท
-รถยนต์สามล้อสาธารณะ 250 บาท
-รถจักรยานยนต์สาธารณะ 250 บาท
3. ค่าธรรมเนียมบัตรประจำตัวผู้ขับรถ 20 บาท
4. ค่าธรรมเนียมแก้ไขรายการในใบอนุญาตขับรถ 50 บาท
สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ ต้องไม่ปล่อยให้ใบขับขี่สาธารณะหมดอายุเกิน 1 ปี หากเกิน 1 ปีไปแล้ว แต่ยังไม่ถึง 3 ปี ต้องทดสอบข้อเขียนอีกครั้ง และในกรณีที่หมดอายุเกิน 3 ปี ต้องเริ่มต้นทำใหม่หมดเหมือนการทำใบขับขี่ครั้งแรก อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระมัดระวังสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ คือการรักษาความปลอดภัยของตนเองและผู้โดยสาร นอกจากขับรถยนต์ตามกฎจราจรแล้ว แนะนำว่าควรทำประกันรถยนต์ด้วยนะ สามารถเช็คเบี้ยและซื้อประกันรถยนต์กับชัวร์ครับได้เลย